สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 12 ในกรณีที่จำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกัน และมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็นตัวอักษรเป็นประมาณ
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13730/2557 ดอกเบี้ยที่กำหนดในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเขียนเป็นตัวอักษรว่า คิดในอัตราร้อยละ เอ็ม.โอ.อาร์ บวก 1.25 ต่อปี แต่เขียนเป็นตัวเลขอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี แตกต่างกันเพราะอัตราดอกเบี้ย เอ็ม.โอ.อาร์ ตามประกาศโจทก์ในขณะนั้นเท่ากับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี เมื่อคิดตามตัวอักษรจะต้องเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี เมื่อตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ จึงต้องถือเอาอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวอักษร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 12 และ 13

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2551 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะที่ระบุจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเป็นตัวเลขและตัวอักษรต่างกันเป็นเรื่องของความผิดพลาดในการทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ ย่อมไม่สามารถระบุเหตุผลได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด เพราะเจ้าพนักงานเองก็เพิ่งมาทราบภายหลัง ซึ่งหากเจ้าพนักงานประเมินทราบความผิดพลาด เจ้าพนักงานประเมินย่อมต้องแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวก่อนส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์ สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ให้เหตุผลที่วินิจฉัยไว้แล้วว่า ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ระบุตัวเลขเป็นรายการเงินภาษี เงินเพิ่มและภาษีส่วนท้องถิ่น รวมเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระไว้ชัดเจนแล้ว การที่ระบุตัวอักษรคลาดเคลื่อนไปจากรายการที่เป็นตัวเลข หาใช่กรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงตาม ป.พ.พ. มาตรา 12 ไม่ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการชอบแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวหาได้ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 ไม่

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2542 คำฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นที่มาของตัวเลขค่าเสียหาย104,347 บาท ว่าเป็นค่าอะไหล่และค่าซ่อมจำนวนหนึ่ง ค่ายกลากรถจำนวนหนึ่ง และค่าดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเงินสามจำนวน เมื่อรวมกันแล้วจะเป็น 104,347 บาท ดังนี้ การที่มีข้อความในวงเล็บต่อท้าย 104,347 บาท ว่า (หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน) นั้น จึงเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด กรณีเช่นนี้มิใช่กรณีจำนวนเงิน หรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลข ถ้าตัวอักษรกับตัวเลข ไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนา อันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็นตัวอักษร เป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 เพราะฟ้องโจทก์สามารถหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงโดยชัดเจนว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 104,347 บาท ไม่ใช่ "หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน" ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 102,742 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงไม่เกินคำขอ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2542 คำฟ้องโจทก์บรรยายไว้ว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุล. ได้ขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปตามถนนเมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุมีจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 สวนทางมาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้ามา ชนรถที่ ล. ขับทำให้รถของ ล. ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้จัดการซ่อมแซมรถยนต์ คันดังกล่าวไปเป็นจำนวนเงิน 101,492 บาท และค่ายกลากรถ 1,250 บาท รวมเป็นเงิน 102,742 บาท โจทก์จึง ได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,605 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน 104,347 บาท ให้โจทก์ และในคำขอท้ายคำฟ้องระบุว่า ให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหาย แก่โจทก์จำนวน 104,347 บาท แล้วมีข้อความในวงเล็บว่า(หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน) คำฟ้องของโจทก์ ดังกล่าวแสดงให้เห็นที่มาของตัวเลขค่าเสียหาย 104,347 บาท ว่าเป็นค่าอะไหล่และค่าซ่อมจำนวนหนึ่ง ค่ายกลากรถจำนวนหนึ่ง และค่าดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเงินสามจำนวนเมื่อรวมกัน แล้วจะเป็น 104,347 บาท ดังนี้ การที่มีข้อความในวงเล็บ ต่อท้าย 104,347 บาทว่า (หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน)นั้น จึงเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด กรณีเช่นนี้มิใช่กรณีจำนวนเงินหรือปริมาณในเอกสารแสดงไว้ทั้งตัวอักษรและตัวเลขถ้าตัวอักษรกับตัวเลขไม่ตรงกันและมิอาจหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงได้ ให้ถือเอาจำนวนเงินหรือปริมาณที่เป็น ตัวอักษรเป็นประมาณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 12 เพราะฟ้องโจทก์สามารถหยั่งทราบเจตนาอันแท้จริงโดยชัดเจนว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวน 104,347 บาท ไม่ใช่ "หนึ่งหมื่นสี่พันสามร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน" ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2ชำระเงินจำนวน 102,742 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงไม่เกินคำขอ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2539 จำเลยผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คพิพาทแม้ผู้ที่แก้ไขรายการเช็คพิพาทช่องจำนวนเงินให้ตรงกับยอดจำนวนเงินที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ใช่จำเลยก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความรับผิดเพราะแม้ไม่มีการแก้ไขดังกล่าวจำเลยก็ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่ลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา12อยู่แล้วการแก้ไขนั้นจึงไม่ใช่การแก้ไขที่เป็นสาระสำคัญที่ทำให้เช็คพิพาทเสียไปตามมาตรา1007วรรคหนึ่ง